Monkey - Paper Mario

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

เปิดประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ ผู้ออกแบบผังเมืองยะลา ติดผังเมืองดีระดับโลก


ผังเมืองยะลา ถูกได้รับว่าเป็นผังเมืองดีระดับโลก ด้วยการจัดสรรแบ่งโซนของพื้นที่ที่เป็นระเบียบ ถนนทุกสายไปรวมศูนย์กันในวงเวียน ผังเมืองที่ดีนี้หากย้อนไปใครเป็นผู้คิดและได้แรงบันดาลใจมาได้อย่างไร ข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ดังนี้  
พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมืองยะลาจนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด พระรัฐกิจวิจารณ์ไม่เพียงแต่วางผังเมืองให้จังหวัดยะลาเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเจริญให้แก่ตัวเมืองยะลาในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงและเป็นที่ประจักษ์ในฐานะ คนดีศรียะลา อยู่จนถึงปัจจุบัน คุณความดีของท่าน จึงเป็นแบบอย่างที่ดีและยิ่งใหญ่ให้แก่ลูกหลานชาวยะลาได้เรียนรู้และสืบสานแนวทางที่ดีนี้สืบต่อไป
พระรัฐกิจวิจารณ์เคยรับราชการ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาคนที่ 10 ระหว่าง พ.ศ.2456-2458 เมื่อออกจากราชการแล้วได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเป็นสมาชิกสภาเทศบาล และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันถึง 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2480-2488 ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจเพื่อสร้างเมืองยะลาอย่างจริงจัง
โดยเริ่มตั้งเมืองยะลาที่ตำบลนิบง ตั้งแต่การวางผังเมืองเป็นวงเวียน 1-2 และ 3 เตรียมจัดผังสำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญของราชการ และให้การสนับสนุนจังหวัดในการย้ายศูนย์ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ศาลจังหวัดยะลา และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา จากตำบลสะเตงมาตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จัดหาศูนย์กลางของตัวเมืองร่วมกับบิดาของนายอดุลย์ ภูมิณรงค์ซึ่งต่อมาเป็นที่สร้างศาลหลักเมืองยะลา และยังได้ความร่วมมือช่วยเหลือสร้างสำนักสงฆ์วัดพุทธภูมิ โรงเรียนประชาบาลตำตำบลสะเตง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเทศบาล 1) และสถานีตำรวจบ้านนิบง
พระรัฐกิจวิจารณ์ ได้ตัดถนนสายสำคัญๆ คือ จากสถานีรถไฟยะลา ไปยังกิโลศูนย์ (มลายูบางกอก) ช่วงที่ 1 คือ ถนนพิพิธภักดี เป็นถนนคู่มีต้นประดู่ขึ้นเรียงรายตลอดสายดูร่มรื่นสวยงาม และช่วงที่ 2 จาก หอนาฬิกาถึงกิโลศูนย์ คือ ถนนสุขยางค์ รวมถึงได้ตัดถนนสิโรรสที่เป็นถนนสายเอกของเทศบาลเมืองยะลา มีเกาะกลางถนนมีทางเท้าขนาดใหญ่ มีต้นเฟื่องฟ้าสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเทศบาลเมืองยะลาและได้ตัดถนนสายย่อยอีกหลายสาย ได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจิณ ถนนพังงา ถนนรวมมิตร และได้สร้างสนามเด็กเล่น และสนามฟุตบอลครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลเก่า ปัจจุบันเป็นศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นอกจากนี้พระยารัฐกิจวิจารณ์ยังเอาใจใส่พัฒนากิจการด้านโรงแรม ตลาดสด และโรงภาพยนตร์ให้มีขึ้นในเขตเทศบาลอีกด้วย
พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นผู้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เห็นได้จากการดำเนินกิจการของเทศบาล หากจะทำอะไรจะต้องขอความเห็นจากที่ประชุมของสมาชิกเทศบาลก่อนเสมอ ท่านเป็นผู้มีความเสียสละทั้งเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวให้กับราชการเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์อันดีกับบรรดาข้าราชการและประชาชน จากที่กล่าวมาข้างต้น นับได้ว่า พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นบุคคลที่เสียสละ มีความคิดริเริ่ม มีความมุ่งมั่นศรัทธา ที่จะทำให้จังหวัดยะลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก จวบจนทุกวันนี้ สิ่งที่ท่านได้วางรากฐานไว้ให้ ได้รับการสานต่อให้เทศบาลนครยะลาเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดี มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย



เครดิต : เทศบาลนครยะลา





วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

"ของดีตากใบ..... "ปลากุเลาเค็ม""



ปลากุเลาตากใบ ราชาแห่งปลาเค็ม 
โอทอปขึ้นชื่อแห่งนราธิวาส

            ปลาที่ “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน”นี่คือสำนวนที่ชาวตากใบมักจะพูดเล่นๆถึงสรรพคุณความอร่อยของ “ปลากุเลาตากใบ” ที่คนส่วนใหญ่เมื่อได้ลิ้มลองต่างติดใจในรสชาติ จนได้รับฉายาว่าเป็น“ราชาแห่งปลาเค็ม”
            ปลากุเลาตากใบ เป็นปลากุเลาเค็มผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอประดับ 5 ดาวของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เป็นการตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็น “ภูมิปัญญาปลาเค็ม” อันเลื่องชื่อลือชาในความอร่อย(มาก)เหนือกว่าปลาเค็มทั่วๆไป โดยเคล็ดลับความอร่อยของปลากุเลาตากใบนั้น อยู่ที่การคัดเลือกปลาที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปลาสดใหม่ที่จับได้ใน อ.ตากใบและในทะเลนราธิวาสเท่านั้น

             เมื่อได้ปลาสดใหม่มา จากนั้นก็จะนำปลามาเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ทำอย่างพิถีพิถัน ที่แม้แต่ละเจ้าจะมีสูตรใครสูตรมัน แต่ก็มีกระบวนการหลักคล้ายๆกัน ได้แก่ เมื่อได้ปลาสดใหม่มาแล้วก็จะมาขอดเกล็ด ควักไส้ เครื่องในทิ้ง ล้างทำความสะอาด จากนั้นนำเกลือยัดไปในท้องและนำปลาไปหมักเกลือ(สูตรใครสูตรมัน)ในภาชนะที่ปิดฝามิดชิด เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงนำล้างน้ำตากด้วยการผูกเชือกที่หางห้อยหัวลง โดยปลาตัวใหญ่ต้องให้กระดาษห่อหัวปลา เพื่อป้องกันแมลงวันมาไข่ ส่วนปลาตัวเล็กไม่ต้องห่อ

            ครั้นเมื่อตากได้ระยะเวลากำหนดก็เสร็จสิ้นนำออกขายได้ ซึ่งปัจจุบันหลายๆร้านจะมีผลิตภัณฑ์บรรจุลงในกล่องอย่างสวยงามเรียบร้อย โดยปลากุเลาตากใบทั้งหมดเขายืนยันในเรื่องของการเป็นปลาปลอดสารเคมี
            และด้วยความอร่อยขึ้นชื่อ ทำให้ปลากุเลาตากใบมีสนนราคาขายที่แพงเอาเรื่อง ปัจจุบันตกอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,200-1,500 บาท ซึ่งก็ทำให้ชาวตากใบหรือชาวนรามักจะซื้อหาไปเป็นของกำนัลผู้หลักผู้ใหญ่ หรือส่งไปให้กับคนที่นับถือกัน จนเกิดเป็นคำพูดเล่นๆว่า “ปลากุเลาตากใบ เป็นปลาที่คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” ดังที่กล่าวมาข้างต้น

           อย่างไรก็ดีแม้ราคาปลากุเลาตากใบจะได้ชื่อว่าแพงกว่าปลาเค็มทั่วๆไป แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ที่พิสมัยในการกิน เพราะมีคนสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากจนชาวบ้านที่ตากใบทำปลากุเลาส่งขายกันไม่ทัน ดังนั้นใครที่อยากกินปลากุเลาจึงต้องโทร.สั่งจองจากร้านที่รู้จักก่อน และบางทีต้องรอเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่มีปลามากหรือน้อยหรือไม่มีปลา โดยในช่วงที่มีปลาเยอะจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. - มี.ค.

             ส่วนใครที่มีโอกาสไปตากใบแล้วลองเสี่ยงไปสั่งซื้อปลากันที่หน้าร้านแบบไม่ได้สั่งจอง ถ้าใครโชคดีได้ปลากุเลามากินก็มีคำพูดเล่นๆว่า คนจะกินปลากุเลาตากใบ ไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียว แต่ต้องมี “บุญ”ด้วย 
             ขณะที่ผู้ที่จะลองกินเมนูปลากุเลาตากใบตามร้านอาหารนั้นก็ไม่ใช่จะหากินกันได้ง่ายๆ แม้ขนาดร้านอาหารชื่อดังประจำ อ.ตากใบ อย่าง “ร้านนัดพบยูงทอง” ยังมีข้อกำหนดในการขายเมนูปลากุเลาตากใบทอดให้ลูกค้า คือ ขายโต๊ะเดียว จานเดียว หรือขายให้โต๊ะละจานเท่านั้น เพราะเขาขอสงวนไว้ให้กับลูกค้าอื่นๆด้วย เนื่องจากเป็นของหายาก 
      และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ความอร่อยของ “ปลากุเลาตากใบ” ราชาแห่งปลาเค็ม ปลาที่ “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” แห่ง จ.นราธิวาส

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บ่อน้ำร้อนเขาแดง บ้านถ้ำตลอด ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

บ่อน้ำร้อนเขาแดง อยู่ที่หมู่ 7 บ้านถ้ำตลอดต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
              เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดจากธรรมชาติ มีความร้อนประมาณ 45 องศาฟาเรนไฮสามารถลวกไข่สุกภายใน 20 นาทีในน้ำร้อนมีแร่กำมะถัน ที่สามารถรักษาโรคผิวหนังได้ ช่วงตอนหัวรุ่ง ตอนเช้ามืด ชาวบ้านในหมู่บ้านนิยมไปอาบน้ำที่บ่อน้ำร้อนนี้กันเป็นจำนวนมากเราไปนั่งแช่น้ำแร่ที่บ่อน้ำร้อนนี้ตั้งแต่หกโมงเช้านั่งมองดูทัศนียภาพโดยรอบ....หากที่นี่มีการปรับปรุงทัศนียภาพบ่อน้ำร้อนแห่งนี้จะเป็นอีกสถานที่หนึ่ง....ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของคนทั่วไปอ.สะบ้าย้อย จว.สงขลา...เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่เราเห็นว่า..มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายมีบรรยากาศดี วิถีชีวิตผู้คนอยู่กันอย่างเรียบง่ายหากมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว...อ.สะบ้าย้อย ก็จะเป็นที่รู้จัก....และได้รับการยอมรับด้านการท่องเที่ยว...











เคดิตภาพ:Link_conner55
 

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"โครงการไม้ดอกเมืองหนาวหมู่บ้านปิยะมิตร 2"

ชมสวนไม้ดอกเมืองหนาวชมแห่งเดียวในภาคใต้ของประเทศไทยที่สวนหมื่นผุบฝา 勿洞万花园
"โครงการไม้ดอกเมืองหนาวหมู่บ้านปิยะมิตร 2" 
ตั้งอยู่ที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง  จังหวัดยะลา

เป็นโครงการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำแนวทางปลูกไม้เมืองหนาวขึ้น เมื่อเสด็จเยือนครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 เนื่องจากบริเวณหุบเขาส่วนนั้นอากาศหนาวปลูกยางพาราไม่ได้ผล โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยให้ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและอดีตชาวจีนมาลายูที่ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียอยู่ในแดนไทยเขตเบตงสมัยก่อนที่ออกมาจากป่ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มีรายได้และช่วยกันสร้างชาติไทย ปัจจุบันหุบเขาแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีไม้เมืองหนาวหลากสีคล้ายบนดอยทางภาคเหนือและไม้ดอกเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของเบตง เช่น ดอกไฮเดรนเยีย เบญจมาศ กุหลาบ พีค๊อก เยอบีร่า ลิลลี่ และอีกหลายอย่างที่ไม่รู้จักชื่อ แต่สวย แปลงปลูกดอกไฮเดรนเยียมีลากสีสวยจนอยากซื้อกลับบ้าน 
ใครที่ชอบสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ  วิวถ่ายภาพสวยๆ ไปเที่ยวสิคะ รับรองถูกใจชั่วคะ
ที่เบตงอะไรๆก็มีภาษาจีนกำกับ ไม่ว่าจะเป็นชื่ออาหาร โรงแรม ชื่อสวน ชื่อดอกไม้ ฯ เพราะนักท่องเที่ยวหลักคือชาวมาเลย์เชื้อสายจีน *****ถ้าบังอื่นมีชาวเบตงคนท้องถิ่นมาอ่าน ช่วยเสริมได้นะคะ  ขอบคุณล่วงหน้านะคะ*******

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประวัติศาสตร์ปัตตานีตอนที่ 4-5

ประวัติศาสตร์ปัตตานี
ตอนที่ 4



ประวัติศาสตร์ปัตตานี
ตอนที่ 5



วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560